ค้นหาบล็อกนี้

วันอาทิตย์ที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2556

บทที่ 3 การรู้สารสนเทศ

1. ความหมาย

            การรู้สารสนเทศ หมายถึงการรู้ถึงความจำเป็นของสารสนเทศ (ข้อมูลข่าวสาร) การเข้า
ถึงแหล่งสารสนเทศ การพัฒนาทักษะการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ การวิเคราะห์และประเมินสารสนเทศ การจัดระบบประมวลสารสนเทศ การประยุกต์ใช้สารสนเทศเพื่อการตัดสินใจที่มีประสิทธิผลและสร้างสรรค์ การสรุปอ้างอิงและสื่อสารข่าวสารอย่างมีประสิทธิภาพ ความเข้าใจและยอมรับในจริยธรรมของข้อมูลข่าวสารการพัฒนาเจตคตินำไปสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต



2. ความเป็นมา
            การรู้สารสนเทศ (Information Literacy) เป็นคำที่พบในบริบทต่างๆ ทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และประเทศอังกฤษ ซึ่งในประเทศอังกฤษนั้นได้ใช้คำว่า ทักษะสารสนเทศ (Information Skills)การรู้สารสนเทศหรือทักษะสารสนเทศเกิดขึ้นในราวต้นคริสต์ศักราช 1974 และได้ใช้คำทั้งสองร่วมกันและบางครั้งได้ใช้ในความหมายเดียวกัน โดยที่การรู้สารสนเทศครอบคลุม ความสามารถในการเข้าถึง การกำหนด การประเมินและการใช้สารสนเทศจากแหล่งต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ซึ่งความสามารถเหล่านี้ไม่ได้เป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่เกิดจากผลของยุคสารสนเทศ หากเป็นสิ่งสำคัญที่จะสร้างความสำเร็จ และคุณภาพชีวิตให้แก่ประชาชน ในอดีตที่ผ่านมา การรู้สารสนเทศได้ถูกจำกัดในรูปแบบของสื่อสิ่งพิมพ์ หนังสือ วิทยุ และวารสาร
            การรู้สารสนเทศจึงเป็นเป้าหมายการเรียนรู้สำคัญของบุคคล การรู้สารสนเทศต้องอาศัยความสามารถในการเข้าถึง ประเมิน และการใช้สารสนเทศ การรู้สารสนเทศจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างคุณลักษณะให้บุคคลเป็นผู้มีความรู้ มีความคิดวิเคราะห์ มีความสามารถด้านสารสนเทศ และช่วยให้บุคคลเป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต


3. องค์ประกอบของการรู้สารสนเทศ
            องค์ประกอบของการรู้สารสนเทศประกอบด้วย ความเข้าใจ และความสามารถส่วนบุคคลที่ตระหนักถึงความจำเป็นของสารสนเทศ โดยต้องมีความสามารถดังต่อไปนี้
            1) ความสามารถในการเข้าถึงสารสนเทศ ประกอบด้วยความสามารถทางกายภาพ และสติปัญญาในการเข้าถึงสารสนเทศ ในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยี สามารถระบุแหล่งและสืบค้น ด้วยการใช้ความรู้และกลยุทธ์เพื่อคัดสรร แก้ไข วิเคราะห์ สังเคราะห์ สร้างสรรค์และสื่อสาร กับฐานข้อมูลทั่วไป
            2) ความสามารถในการประเมินสารสนเทศ ประกอบด้วยความสามารถในการสังเคราะห์ หรือตีความสามารถตัดสินใจได้ว่าแหล่งสารสนเทศใดมีความน่าเชื่อถือ โดยอาศัยข้อเท็จจริงและความเที่ยงตรง
            3) ความสามารถในการใช้สารสนเทศ ประกอบด้วยความเข้าใจประเด็นทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสารสนเทศ รวมถึงมารยาทการใช้สารสนเทศ และประสิทธิภาพในการจัดการสารสนเทศที่สืบค้นได้ตรงตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้

4. คุณลักษณะและความสามารถในการรู้สารสนเทศ
            SUNY Council of Library Directors Information Literacy Initiative  ได้ เสนอคุณลักษณะและความสามารถในการรู้สารสนเทศของบุคคลดังนี้
                1) ตระหนักถึงความจำเป็นของสารสนเทศ
                2) สามารถกำหนดขอบเขตของสารสนเทศที่จำเป็น
                3) เข้าถึงสารสนเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ
                4) ประเมินสารสนเทศและแหล่งสารสนเทศได้
                5) นำสารสนเทศที่คัดสรรแล้วสู่พื้นความรู้เดิมได้
                6) มีประสิทธิภาพในการใช้สารสนเทศได้ตรงตามวัตถุประสงค์
                7) เข้าใจประเด็นทางเศรษฐกิจสังคมวัฒนธรรมและกฎหมายในหารใช้สารสนเทศ
                8) เข้าถึงและใช้สารสนเทศได้อย่างมีจริยธรรมและถูกกฎหมาย
                9) แบ่งประเภทจัดเก็บและสร้างความเหมาะสมให้กับสารสนเทศที่รวบรวมไว้
               10) ตระหนักว่าการรู้สารสนเทศช่วยให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต


5. มาตรฐานของผู้รู้สารสนเทศ
            มาตรฐานทั่วไปประกอบด้วย มาตรฐานที่1-3 การเรียนรู้อย่างอิสระประกอบด้วยมาตรฐานที่ 4-6 และความรับผิดชอบต่อสังคมประกอบด้วยมาตรฐานที่7-8 ดังต่อไปนี้
            มาตรฐานที่ 1 ผู้เรียนเข้าถึงสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล
            มาตรฐานที่ 2 ผู้เรียนประเมินสารสนเทศอย่างมีวิจารณญาณ และอย่างมีความสามารถ
            มาตรฐานที่ 3 ผู้เรียนให้สารสนเทศอย่างถูกต้องและสร้างสรรค์ การเรียนรู้อย่างอิสระ
            มาตรฐานที่ 4 ผู้เรียนมีอิสระในการเรียนรู้ ต้องรู้สารสนเทศ และแสวงหาสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับความสนใจส่วนตัวได้
            มาตรฐานที่ 5 ขั้นประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผล (Evaluation) เป็นการวิเคราะห์สารสนเทศที่สืบค้นได้จากแหล่งต่าง ๆ และนำเสนอสารสนเทศ
            มาตรฐานที่ 6 ผู้เรียนที่มีอิสระในการเรียนรู้ ต้องรู้สารสนเทศ ต้องมุ่งแสวงหาสารสนเทศ และสร้างองค์ความรู้อย่างยอดเยี่ยม ความรับผิดชอบต่อสังคม
            มาตรฐานที่ 7 ผู้เรียนสร้างประโยชน์ต่อชุมชนแห่งการเรียนรู้และสังคม เป็นผู้รู้สารสนเทศและตระหนักถึงความสำคัญของสารสนเทศที่มีต่อสังคมประชาธิปไตย
            มาตรฐานที่ 8 ผู้เรียนสร้างประโยชน์ต่อชุมชนแห่งการเรียนรู้และสังคม เป็นผู้รู้สารสนเทศ และฝึกฝนให้มีพฤติกรรมที่มีจริยธรรม อันเกี่ยวข้องกับสารสนเทศและเทคโนโลยีสารสนเทศ
            การรู้สารสนเทศจึงเป็นกระบวนการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาทักษะการรู้สารสนเทศโดยต้องจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในบริบทของทุกอย่างในชีวิตของบุคคล เพื่อความสำเร็จโดยบูรณาการทั้งในหลักสูตรของการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย


6. แนวทางการส่งเสริมการรู้สารสนเทศ
             แนวทางการส่งเสริมการรู้สารสนเทศมีหลายแนวทาง หากแนวทางที่มีรูปธรรมชัดเจนจากประเทศสหรัฐอเมริกา คือ TheBig 6 Skills Model โดยมี 6 ขั้นตอน ได้แก่
             ขั้นตอนที่ 1 การกำหนด ภาระงาน (Task Definition) เป็นการระบุปัญหา หรือกำหนดขอบเขตของสารสนเทศที่ต้องการใช้ และกำหนดวัตถุประสงค์เพื่อการค้นหาสารสนเทศในขั้นต่อไป
             ขั้นตอนที่ 2 การกำหนดกลยุทธ์แสวงหาสารสนเทศ (Information Seeking Strategies) เป็นการกำหนดว่าแหล่งสารสนเทศใดมีสารสนเทศที่ต้องการ และประเมินความเหมาะสมของแหล่งสารสนเทศกับปัญหาที่ได้กำหนดไว้ข้างต้น เพื่อให้สารสนเทศได้ตรงกับความต้องการอย่างแท้จริง
             ขั้นตอนที่ 3 การกำหนดแหล่งสารสนเทศและการเข้าถึงสารสนเทศ (Location and Access)เป็นการระบุแหล่งที่อยู่ของสารสนเทศและค้นหาสารสนเทศตามแหล่งสารสนเทศที่ได้กำหนดไว้
             ขั้นตอนที่ 4 การใช้สารสนเทศ (Use of Information) เป็นการอ่าน พิจารณาสารสนเทศที่ต้องการและคัดเลือกข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องออกมาใช้ได้ตรงกับที่ต้องการ
             ขั้นตอนที่ 5 ขั้นประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผล (Evaluation) เป็นการวิเคราะห์สารสนเทศที่สืบค้นได้จากแหล่งต่างๆ และนำเสนอสารสนเทศ
            ขั้นตอนที่ 6 ขั้นประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผล (Evaluation) เป็นการวิเคราะห์สารสนเทศที่สืบค้นได้จากแหล่งต่างๆ และนำเสนอสารสนเทศ
            สำหรับในประเทศงานวิจัยการพัฒนารูปแบบการรู้สารสนเทศสำหรับสังคมไทย ได้สังเคราะห์และพัฒนารูปแบบการรู้สารสนเทศสำหรับสังคมไทยขึ้นโดยมีพื้นฐานจาก The Big 6 Skills Model ดังกล่าวข้างต้น มี 4 ขั้นตอนได้แก่
            1) กำหนดภารกิจคือต้องการรู้อะไรปัญหาหรือข้อสงสัยคืออะไร
            2) ตรงจุดเข้าถึงแหล่งคือการหาคำตอบว่าอยู่ที่ไหน มีวิธีเข้าถึงและการใช้แหล่งความรู้ได้อย่างไร
            3) ประเมินสารสนเทศ คือ การคัดสรรสารสนเทศอย่างไรให้ตรงกับสิ่งที่ต้องการรู้ และน่าเชื่อถือ
            4) บูรณาการวิถีการใช้งาน คือ การมีวิธีใดใช้ในการนำสิ่งที่ค้นพบมาสรุป นำเสนอและสื่อสารกับผู้อื่นประยุกต์ใช้แก้ปัญหาใช้อย่างมีจรรยาบรรณและถูกกฎหมาย

7.ประโยชน์ของการรู้สารสนเทศ


            การศึกษานอกโรงเรียนต้องมุ่งให้บุคคลรู้ถึงความจำเป็นของสารสนเทศ การเข้าถึงแหล่งสารสนเทศ การพัฒนาทักษะการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศการวิเคราะห์และประเมินสารสนเทศ การจัดระบบประมวลสารสนเทศ การประยุกต์ใช้สารสนเทศ เพื่อการตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพ และสร้างสรรค์ การสรุปอ้างอิงและสื่อสารข่าวสารอย่างมีประสิทธิภาพ ความเข้าใจและยอมรับในจริยธรรมของข้อมูลข่าวสาร การพัฒนาเจตคติที่นำไปสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อนำไปสู่การรู้สารสนเทศอย่างแท้จริง


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น